วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประวัติความเป็นมาของธงชาติไทย




ประวัติความเป็นมาของธงชาติไทย

‘ธงชาติ’ เป็นเครื่องหมายสำคัญแสดงความเป็นชาติจึงควรที่ประชาชนจะต้องเคารพ และทำความเข้าใจในลักษณะและความหมายของธงชาติให้ถ่องแท้ ธงชาติไทย ในปัจจุบัน มี 3 สี คือ แดง ขาว น้ำเงิน จึงเรียกว่า ธงไตรรงค์ แปลว่า ธงสามสี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาคิดค้นประดิษฐ์ธงชาติขึ้น และทรงตราพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2460 ออกประกาศเมื่อ 24 กันยายน 2460 มีความสำคัญเกี่ยวกับลักษณะของธงชาติ ดังนี้
“เป็นธงรูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่อยู่กลางกว้าง 1 ใน 3 ของความกว้างของธง มีแถบสีขาว 1 ใน 6 แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบสีขาว … พระราชทานนามว่า ธงไตรรงค์”
ก่อนที่จะมีธงไตรรงค์ นี้ ไทยเคยมีธงประจำชาติใช้มาแล้ว ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ระหว่าง พ.ศ.2360-2366 โปรดให้ส่งเรือกำปั่นหลวงไปค้าขายระหว่างกรุงเทพฯ สิงคโปร์ และมาเก๊า ซึ่งเป็นสถานีค้าขายของอังกฤษ โดยโปรดให้ติดธงสีแดง แต่ ปรากฏว่าไปเหมือนกับธงเรือสินค้าของชาติมลายู เจ้าเมือง สิงคโปร์ จึงขอให้เรือไทยใช้ธงสีอื่นให้ต่างกันออกไป ในระยะนั้น ระจวบกับมีช้างเผือกมาสู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดให้นำ รูปช้างสีขาวในวงจักรสีขาว ติดไว้กลางธงแดง มีความหมายว่า ธงชาติของพระเจ้าแผ่นดินที่มีช้างเผือก ต่อมาในรัชกาล ที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำสัญญาค้าขายกับชาวยุโรปและอเมริกา มีผู้แทนของชาติต่างๆ มาตั้งกงสุล เพื่อติดต่อประสานงานด้านการค้า กงสุลเหล่านั้นชักธงชาติขึ้น เป็นเครื่องหมายแห่งประเทศของตน จึงมีพระราชดำริให้มีธงชาติสยาม ให้ทัดเทียมอารยประเทศ โดยโปรดให้ใช้ ธงช้างเผือกเดิมที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ใช้อยู่ แต่นำรูปวงจักรออก คงมีแต่ช้างเผือกอยู่กลางธงแดง แล้วทรงประดิษฐ์ธงอีก 2 แบบ คือ ธงมหามงกุฎ เป็นธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ (พระนามเดิม คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ) และธงไอยราพตเป็นธงประจำรัฐบาลไทย และโปรดให้ตราพระราชบัญญัติธงสยาม ร.ศ.110 พระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 116 พระราชบัญญัตธงรัตนโกสินทรศก 118 ลักษณะธงตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็น ธงพื้นแดงตรงกลางมีช้างเผือกหันหน้าเข้าหาเสา
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตราพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 129 เมื่อ 21 พฤศจิกายน แก้ไขธงชาติเป็นธงพื้นแดงกลางเป็นรูปช้างเผือกยืนแท่น เริ่มใช้เมื่อ 1 มกราคม 2459 ครั้นถึงพุทธศักราช 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นฝ่ายสัมพันธมิตรรบกับเยอรมนี ออสเตรีย และอังการี มีพระราชดำริว่า ธงชาติที่ใช้อยู่ก่อนมีลักษณะและสีไม่สง่างาม เช่น ธงของอารยประเทศ และมีผู้เล่าไว้ว่า คราวหนึ่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังอุทัยธานีราษฎรมีความจงรักภักดี จึงหาธงช้างยืนแท่นมาติดตามบ้านเรือนเพื่อรับเสด็จ ได้ทอดพระเนตรเห็นบ้านหนึ่งแขวนธงช้างยืนเท้าชี้ขึ้นข้างบน จึงมีพระราชดำริให้ปรับปรุงธงชาติใหม่ ทรงพระราชดำริว่า ควรเป็นธงแถบขาวแดงและทรงริเริ่มประชาธิปไตยคือ ทรงรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย ต่อมามีผู้ใช้นามแฝงว่า อแคว์เรียส ส่งมาพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ ภาษาอังกฤษ ฉบับ 15 สิงหาคม เสนอแนะให้ใช้ธงมีสามสี เหมือนของชาติฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา โดยให้มีสีน้ำเงินตรงกลาง มีความหมายถึง พระมหากษัตริย์ โดยเสนอแนะด้วยว่า น่าจะเป็นที่พอใจของประเทศพันธมิตร และในวาระที่ประเทศไทยเข้าสู่เหตุการณ์สำคัญ เช่น สงครามโลก ก็จะทำให้ประชาชนชาวไทยและชาวโลก ระลึกถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์พร้อมกันไปกับชาติไทยด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบ จึงทรงประดิษฐ์ ธงไตรรงค์ ขึ้นใช้เป็น ธงชาติ และทรงตราพระราชบัญญัติ ธงออกประกาศใช้ดังกล่าวมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่อง ความหมายของธงไตรรงค์ ไว้ดังนี้
ขอร่ำรำพรรณบรรยาย ความคิดเครื่องหมาย แห่งสีทั้งสามงามถนัด
ขาวคือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์ และธรรมะคุ้มจิตใจ
แดงคือโลหิตเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้ เพื่อรักษาชาติศาสนา
น้ำเงินคือสีโสภา อันจอมประชา ธ โปรดเป็นของส่วนองค์
จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึงเป็นสีธง ที่รักแห่งเราชาวไทย
ทหารอวตารนำไป ยงยุทธวิชัย วิชิตก็กู้เกียรติสยาม
ครั้นถึงรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชบันทึกพระราชทานไปยังองคมนตรี เพื่อให้เสนอความเห็นของคนหมู่มากว่า จะคงใช้ธงไตรรงค์ดังที่ใช้อยู่เป็นธงชาติต่อไป หรือจะกลับไปใช้ธงช้างแทน หรือจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงลักษณะธงชาติ กับวิธีใช้ธงไตรรงค์อย่างไร ปรากฏว่าความเห็นขององคมนตรีแตกต่างกระจายกันมาก จึงมิได้กราบบังคมทูลข้อชี้ขาด ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงไตรรงค์ เป็นธงชาติต่อไปตามพระราชวินิจฉัยพุทธศักราช 2479 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติธงซึ่งยังคงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติเช่นเดิมแต่ ได้อธิบายลักษณะธงไว้เข้าใจง่ายและชัดเจน ดังนี้ ‘ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้าง 2 ใน 6 ส่วน ตรงกลางเป็นสีขาบต่อจากแถบสีขาบออกไปสองข้าง ๆ ละ 1 ส่วนใน 6 ส่วนเป็นแถบสีขาว ต่อจากสีขาวออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีแดง ‘
ธงชาตินี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ ได้ใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบัน
(ข้อมูล : สารานุกรม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม 1; ของดีในประวัติศาสตร์และโบราณคดีของ ตรี อมาตยกุล: ตำนานธงไทย) ขอบคุณ www.banfun.com ที่อนุเคราะห์รูปภาพประกอบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น